Wednesday, August 1, 2012

Is this coffee or gold? - Part I (กาแฟหรือว่าทอง? - ตอนที่ 1)


จากตอนที่แล้วที่ได้มีการแตะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกาแฟในมุมแคบและกว้างไปบ้างแล้ว วันนี้เลยอยากจะมาแชร์ในมุมที่หรูหราและมีค่าจนบางครั้งเราคิดว่า นี่มันกาแฟหรือว่าทองกันวะเนี่ย ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่สามารถหาบริโภคได้ในเกือบทุกซอกทุกมุมในบ้านเรา (ถ้าจะแพ้ก็แค่ส้มตำ) จะเป็นเมล็ดพืชที่มีมูลค่ามากขนาดนี้
ซึ่งจริงๆก็อยากจะทราบเหมือนกันครับว่ากระบวนการที่สร้างสรรค์ให้เมล็ดพืชที่มีเมล็ดอยู่สองเมล็ดในผลเดียวชนิดนี้นั้นมาจากการใช้น้ำแร่จากโปแลนด์มารด การเก็บโดยใช้เครื่องมือที่ทำจากแร่ Platinum การตากโดยใช้แสงแดดจากเทือกเขาเอเวอร์เรส หรือการคั่วโดยใช้เม็ดมะขามเพื่อเพิ่มมูลค่าก็ตาม ชักจะเวิ่นอีกแล้ว เอาล่ะครับ เรามาดูกันดีกว่าครับว่าเมล็ดกาแฟที่แพงที่สุดในโลก 10 อันดับมีอะไรบ้าง

Kopi Luwak (Indonesia) ระดับราคาตั้งแต่ $115 ถึง $590 / 500 กรัม
Kopi Luwak
Kopi Luwak หรือ กาแฟขี้ชะมด (โชคดีที่เป็นชะมด) เป็นเมล็ดกาแฟที่มาจากการกินเมล็ดกาแฟดิบจากต้น หรือ Coffee Cherry โดยชะมดท้องถิ่นพันธ์หนึ่งที่เรียกว่า Common Palm Civet ซึ่งมีความเชื่อว่าชะมดมีประสาทสัมผัสในการเลือกกินเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุด และสุกที่สุด รวมถึงระบบการย่อยของชะมดที่สามารถทำให้เปลือกของเมล็ดกาแฟสุมตรานั้นถูกลอกออกได้ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลทำให้เมล็ดกาแฟนั้นมีรสชาติหวานมากขึ้น โดยที่เมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการย่อยโดยชะมดนั้นจะถูกเก็บด้วยมือจากพื้นป่า ฟังดูจากกระบวนการตามธรรมชาติมี่ซับซ้อนมากขนาดนี้ก็คงไม่แปลกใจที่เมล็ดกาแฟจะมีราคาแพง และถือว่าเป็นเมล็ดกาแฟที่แพงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ครับ

Hacienda La Esmeralda (Boquete, Panama) $100 / 500 กรัม
Esmeralda
เมล็ดกาแฟจากประเทศปานามาสายพันธ์นี้ได้ปลูกอยู่ที่ระดับความสูงที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร เมล็ดกาแฟชนิดนี้ได้ทำสถิติในการประมูลหลายต่อหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อถูกประมูลที่ราคา $21 / ปอนด์ในเดือนมิถุนายน 2004 อีกครั้งหนึ่งที่ราคา $50.25 / ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2006 ครั้งต่อไปที่ราคา $130 / ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2007 และที่ราคาสูงถึง $170 / ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2010 เมล็ดกาแฟจาก Panama ชนิดนี้เป็นผลผลิตจากต้นกาแฟที่เติบโตในร่มเงาของต้นฝรั่ง (อะไรมันจะขนาดนั้นวะ?) ได้ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเป็นอย่งาดีในเรื่องของรสชาติและกลิ่น และยังเคยได้รับเลือกเป็นเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุดโดย Specialty Coffee Association of America หรือ SCAA หลายต่อหลายครั้งด้วยกัน

Island of St. Helena Coffee Company (St. Helena) $80 / 500 กรัม
Island of St. Helena
กาแฟสายพันธ์ไฮโซชนิดนี้ปลูกอยู่ในเกาะ St. Helena หรือ Island of St. Helena ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง Africa ถึง 1,200 ไมล์ กาแฟสายพันธ์นี้ได้มีการเพาะพันธ์มากจากสายพันธ์มากจากประเทศเยเมน Yemen ในปี 1730 สำหรับเรื่องนี้ต้องขอบคุณท่าน Napoleon Bonaparte ผู้ที่ริเริ่มกล่าวถึงกาแฟชนิดนี้โดยการยกย่องถึงกาแฟของเกาะแห่งนี้เมื่อเท้าของนักรบคนนี้ได้เหยียบลงบนเกาะแห่งนี้ในอดีต แต่กาแฟจากเกาะนี้ได้หายไปจากความสนใจของแวดวงกาแฟโลกกว่าศตวรรษ จนกระทั่ง David R. Henry เริ่มการส่งออกเมล็ดกาแฟชนิดนี้อีกครั้งในช่วงเริ่มต้นของยุค 90’s สำหรับผลผลิตของเมล็ดกาแฟชนิดนี้จะค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ระดับประมาณ 12 ตันต่อปีเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ความต้องการเมล็ดกาแฟชนิดนี้จะค่อนข้างสูงตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเรียนมาครับ

El Injerto (Huehuetenango, Guatemala) $25 / 500 กรัมสำหรับสารกาแฟดิบและราคาที่มากกว่า $50 / 500 กรัมสำหรับเมล็ดกาแฟคั่วแบบปลีก
El Injerto
เมล็ดกาแฟที่มีสเน่ห์จาก El Injerto ประเทศกัวเตมาลาชนิดนี้ได้ถูกเตรียมการอย่างเป็นพิเศษสำหรับ The Cup of Excellence Auction ซึ่งเป็นรางวัลที่เมล็ดกาแฟจากไร่กาแฟคุ้นเคยดีโดยได้รับรางวัล Cup of Excellence ครั้งแรกในปี 2006 ต่อมาในปี 2008, 2009, 2010 และ 2012 และในเดือนมิถุนายน 2012 ที่เพิ่งผ่านมานี้เองเมล็ดกาแฟชนิดนี้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับวงการกาแฟด้วยราคาในการประมูลที่สูงถึง $500.50 / ปอนด์ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดราคาหนึ่งที่เคยถูกประมูล การประมูลครั้งนี้ทำให้ El Injerto เป็นเมล็ดกาแฟระดับแถวหน้าในวงการ สำหรับประเภทของ El Injerto ที่ดีที่สุดนั้นเป็นมอคค่า 100% ซึ่งเป็นสายพันธ์จากประเทศเยเมน ลักษณะเมล็ดจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยขนาดของเมล็ดจะเล็กประมาณ 1/3 ของเมล็ดกาแฟทั่วๆไป ซึ่งถือว่าพิเ ศษและหายากมากในโลกนี้

Fazenda Santa Ines (Minas Gerais, Brazil) $50 / ปอนด์สำหรับสารกาแฟดิบในการประมูล
Fazenda Santa Ines is available here
เมล็ดกาแฟจากประเทศบราซิลชนิดนี้เป็นเมล็ดกาแฟที่เคยได้คะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Cup of Excellence ด้วยคะแนนที่รวมที่สูงถึง 95.85 จาก 100 คะแนน ผลผลิตของเมล็ดกาแฟที่มีในการประมูลนั้นมีปริมาณจำกัดและน้อยมาก โดยสารกาแฟดิบเหล่านี้จะถูกซื้อโดย Caffe Artigiano จากประเทศแคนนาดาและโรงคั่วกาแฟ 2 เจ้าจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งคุณคงไม่สามารถจะหิ้วเมล็ดกาแฟคั่วเป็นถุงกลับบ้านได้ถ้าเกิดติดใจขึ้นมา แต่คงสามารถหาชิมได้เป็นแก้วๆเท่านั้นที่ Caffe Artigiano หรือร้านกาแฟชั้นนำจริงๆทั่วโลก

Tuesday, June 5, 2012

Macro View of Thai Coffee (มุมกว้างๆของกาแฟไทย)


พูดถึงกาแฟในมุมแคบๆมาเยอะแล้วครับ ความพยายามที่จะหากาแฟดีๆดื่มวันนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่าเรามาพูดถึงกาแฟในมุมกว้างๆมากดีกว่าครับ เนื่องจากการดื่มกาแฟแบบตะวันตกจะไม่ได้เป็นที่นิยมมากในอดีตจนกระทั่งระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเมล็ดกาแฟไม่ได้เป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านเรา อาจจะมาจากลักษณะภูมิประเทศ หรืออาจจะเพราะการที่ประเทศเราไม่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกก็ไม่ค่อยแน่ใจครับ
ตามข้อมูลที่เคยศึกษามา กาแฟไม่น่าจะเป็นพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทำไมประเทศอินโดนีเซียถึงมีดารปลูกกาแฟอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นสุดยอดภูมิลำเนากาแฟโลก สาเหตุอาจจะมาจากสภาพทางภูมิศาตร์ที่เหมาะสมกับการคิดค้นวิธีบริโภคที่แปลกประหลาด (ไม่ทราบว่าคิดอย่างไรในการไปหาของกินจากอุจจาระสัตว์ ถ้าสัตว์ชนิดนั้นไม่ใช่ชะมดแต่เป็นสุนัข จะเกิดอะไรขึ้นครับ ไม่อยากจะคิดเลยครับ กาแฟขี้สุนัข” จะรสชาติดีกว่ากาแฟขี้ชะมดมั้ยครับเนี่ย
จุดเริ่มต้นนั้นเกิดจากชาวดัชท์ (เนเธอร์แลนด์) เป็นผู้ริเริ่มนำกาแฟ (ซึ่งจริงๆแล้วถูกค้นพบในประเทศเอธิโอเปีย ในทวีปแอฟริกา) เข้ามาปลูกในประเทศอินโดนีเซียนั่นเอง เมล็ดพืชมหัศจรรย์ที่สร้างความคึกคักกลับไม่ได้ดังในประเทศต้นกำเนิด แต่กลับไป Hot ในเมืองมักกะโรนี นิยมกันมากแบบเป็นเรื่องเป็นราว จนมีการค้นคว้าและคิดค้นกรรมวิธีต่างๆในการบริโภคจนกลายเป็นมหาอำนาจของเมล็ดพืชชนิดนี้ อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ อุปกรณ์บางอย่างมีมูลค่าประมาณรถยนต์หนึ่งคันเห็นจะได้ สุดยอดนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาคารและเครื่องดื่มจริงๆ
จะมีใครคิดครับว่าเครื่องดื่มที่บางครั้งดูเป็นขนม นิยมบริโภคกันเวลาชิวๆ ควบคู่ไปกับของหวานรสชาติเลิศๆ จะเป็นผลผผลิตของพืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณการผลิตสูงถึง 7 ล้านเมตริคตันต่อปีทั่วโลก (1 เมตริคตัน = 1,000 กิโลกรัม) และมีปริมาณการซื้อขายเป็นรองแค่น้ำมันดิบเท่านั้น มูลค่านี้เป็นแค่มูลค่าของวัตถุดิบเท่านั้นนะครับ ยังไม่รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ถูกสร้างเพิ่มอีกไม่รู้กี่เท่าจากวัตถุดิบชนิดนี้ครับ และไม่น่าเชื่อว่าของที่ดู Indy แบบนี้จะสามารถสร้างมูลค่าอันมหาศาลได้ถึงขนาดนี้ 
สำหรับในบ้านเรา (อันนี้จากข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัว) กาแฟในบ้านเรามีวิธีการบริโภคที่ค่อนข้างจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และไม่ได้ขายกันในราคาที่กล่าวได้ว่าจะสามารถทำให้เกิดความมั่งคั่งในชีวิตได้ ดังนั้น Business Model ของร้านกาแฟจริงจังจึงอาจจะยังไม่เกิดขึ้นมากนักในบ้านเรา เพราะก่อนเกิดอาจจะดับได้ง่ายๆ ความพยายามในการทำร้านกาแฟดีๆสักร้าน มีการลงทุนที่สูงอยู่ครับ รายได้อาจไม่มากถ้าเทียบกับการลงทุน สู้เปิดร้านในสไตล์ Street  Vending ไม่ได้ ซึ่งขายง่าย ขายถูก ขายเร็ว ลงทุนน้อย มีให้เห็นทุกมุม ลองสังเกตดูสิครับ ร้านกาแฟแนวหน้าของเจ้าของชื่อชั้นระดับเทพและเซียนในวงการในวงการกาแฟบ้านเรานั้น ต่างอยู่ในทำเลที่เรียกว่าเดินทางและเข้าถึงได้อย่างไม่ค่อยสะดวกนัก นั่นอาจจะเพราะความรักสันโดษหรือความเสี่ยงของการลงทุนที่อาจไม่คุ้มทุนก็ไม่สามารถทราบได้ (ขอไม่วิจารณ์ครับเพราะไม่รู้จริง)
เราจึงไม่ค่อยได้พบเห็นร้านกาแฟ Indy ดีๆ ในสถานที่ที่สามารถหาบริโภคได้ง่าย มีแต่กาแฟ Chain ที่ได้มีเงินทุนในการประกอบการค่อนข้างสูง ซึ่งบางครั้งก็แอบเบื่อในรสชาติเช่นกัน แต่ก็ขอยอมรับในความเป็นมาตราฐาน ในขณะเดียวกันสิ่งที่สัมผัสไน้อยมากในเครื่องดื่มแต่ละแก้วก็คือ Passion หรือ จิตวิญญาณนั่นเอง ก็ในเมื่อทุกกระบวนการถูกกำหนดให้เป็นกระบวนอัตโนมัติทั้งหมดเพื่อความเป็นมาตราฐานของ Brand แล้วจะเอาจิตวิญญาณของ Barista ไปใส่ลงตรงไหนกันครับ

ก่อนจากไปในวันนี้ผมขอเป็นกำลังใจให้กับคนกาแฟของบ้านเราที่มีอุดมคติและความมุ่งมั่นสร้างสรรค์และผลิตงานศิลปที่เกิดจากเมล็ดพืชมหัศจรรย์ชนิดนี้ ความรู้และความพยายามที่ท่านเหล่านี้มอบให้สังคมจะไม่สูญเปล่า แล้วหวังว่าค่านิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในบ้านเราจะเปลี่ยนไปและเป็นแรงผลักดันให้ผลผลิตดีๆจากบ้านเราได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับโลกภายในเร็ววันครับ

Monday, May 7, 2012

From Espresso to The Variety of Coffee Drinks (จากเอสเปรสโซสู่ความหลากหลายของเครื่องดื่มกาแฟ)


ทำไมผมต้องพูดถึง Espresso ในตอนที่แล้วอย่างค่อนข้างละเอียด นั่นก็เป็นเพราะไอ้เจ้า Espresso นี่แหละที่เป็นหัวใจของเครื่องดื่มที่กาแฟหลากหลายชนิดที่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเภท Basic เรียกง่ายๆติดปากอย่าง Latte (Latte จริงๆแปลว่านม ถ้าไปสั่ง Latte ที่เมืองนอกอาจได้นมร้อนมารับทานแทนกาแฟ) และ Cappuccino (ต่างกับ Latte อย่างไร? ยังงงงงกันอยู่?) Americano (ตกลงเป็นกาแฟที่มาจาก America หรืออย่างไร?) Mocha (เป็นกาแฟชนิดหนึ่งด้วยหรือ?) หรือไม่ว่าจะเป็นเป็นศัพท์เทคนิคที่ Advance มากขึ้น ชวนสับสนและสร้างความมึนกบาลให้กับพวกเรา (จรืงแล้วไม่อยากเหมา แต่สำหรับผมเนี่ยมึนมากๆ) 
Ristr8to Coffee Menu


สำหรับผู้อ่านที่มีความรู้อยู่แล้วคงไม่สงสัย แต่สำหรับผมแล้วเครื่องดื่มที่มีชื่อซับซ้อนเรียกยากแบบนี้ สร้างปัญหาให้กับผมเป็นอย่างมากครับ จึงอยากสร้างความเข้าใจที่ง่ายมากขึ้นสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มสนใจเครื่องดื่มกาแฟ จะได้ไม่ต้องไปกดดันหรือปล่อยไก่อย่างที่ผมเคยปล่อยมาหลายเล้าแล้วในอดีต 

เรามาทำความเข้าใจถึงส่วนผสมของเมนูเครื่องดื่มกาแฟแต่ละชนิดกันก่อนดีกว่า เพื่อความเข้าใจถึงสิ่งที่เราอยากจะสั่งอยากจะชิมกันก่อนดีกว่าครับ จากนี้ไปจะได้ลิ้มรสสิ่งที่อยากจะชิมจริงๆ และเพิ่มความมั่นใจเพื่อให้สามารถต่อแถวและเผชิญหน้ากับ Barista ได้อย่างราบรื่น โดยไม่ขัดเขินอีกต่อไป เรามาเริ่มกันที่เมนู Basic ที่เป็นที่นิยมดื่มกันในบ้านเรากันก่อนจะดีกว่านะครับ


Espresso (เอสเปรสโซ) คือกาแฟเพียวๆ ไม่ผสมอะไรทั้งสิ้น

Latte (ลาเต้) เป็นภาษาอิตาลีแปลว่านม ส่วนในประเทศอื่น จะหมายถึง กาแฟลาเต้ หรือเครื่องดื่มกาแฟที่เตรียมด้วยนมร้อน โดยมีส่วนผสมของเอสเปรสโซ 1/3 ส่วน และนมร้อนอีก 2/3 ส่วน ลงในถ้วยพร้อมๆ กัน และจะหยอดโฟมนมทับข้างบน

Cappuccino (คาปูชิโน) มีส่วนประกอบหลักคือ เอสเปรสโซ และนม มีอัตราส่วนของเอสเปรสโซ 1/3 ส่วน ผสมกับนมสตีม 1/3 ส่วน และโฟมนม 1/3 ส่วนลอยอยู่ด้านบน ตามทฤษฎีจะต้องมีวงแหวนอยู่ด้านบน แต่ที่พบเห็นในหลายๆร้านนั้นตกต่างกันไปครับ อาจมีหรือไม่มีแต่ที่เน้นคือ โฟมนม

Mocha (มอคค่า) เมนูนี้ต้องระวังนะครับ หลายๆคนอาจนึกว่าไม่ใช่กาแฟ ซึ่งจริงๆแล้วมอคค่าเป็นเครื่องดื่มกาแฟที่คล้ายกับกาแฟลาเต้คือมีเอสเปรสโซ 1/3 ส่วนและนมร้อน 2/3 ส่วน แต่แตกต่างกันที่มอคค่าจะมีส่วนผสมของช็อคโกแลตด้วย โดยมักจะใส่ในรูปของน้ำเชื่อมช็อคโกแลต

Americano (อเมริกาโนคือกาแฟชนิดหนึ่งที่มีวิธีการชงโดยเติมน้ำร้อนผสมลงไปในเอสเปรสโซ การเจือจางเอสเปรสโซซึ่งเป็นกาแฟเข้มข้นด้วยน้ำร้อน ทำให้อเมริกาโนมีความแก่พอๆ กับกาแฟธรรมดา แต่มีกลิ่นและรสชาติที่เข้มอันมาจากเอสเปรสโซ อเมริกาโนเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟดำ แต่ไม่แก่และหนักถึงขั้นเอสเปรสโซ

Coffee Recipe
Macchiato (มัคคิอาโต) มาจากภาษาอิตาลีหมายถึง "ถูกทำสัญลักษณ์" หรือ "ถูกกรอง" มักจะหมายถึงโฟมนมเพียงเล็กน้อยที่ถูกเททับลงด้านบน เพื่อที่จะบ่งบอกว่าเครื่องดื่มชนิดนี้มีนมเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ Caramel Macchiato ที่มีส่วนผสมของนมที่มากกว่าและ Caramel ซึ่งให้รสชาติหวานแบบเข้มข้นมากๆ และเป็นที่นิยมสุดๆของบ้านเรา ซึ่งถ้าไปสั่งเมนูนี้ที่เมืองนอกอาจจะงงกันได้ครับ แต่สำหรับ Latte Macchiato นั้นก็เป็นอีกแบบนะครับ โดยส่วนผสมจะมีโฟมนมในอัตราส่วน 2/3 ตามด้วย เอสเปรสโซ Double Shot 

หวังว่าสิ่งที่ผมนำมาแชร์ในวันนี้ จะทำให้เรารู้จักและเห็นภาพเครื่องดื่มกาแฟที่หลากหลายได้ชัดขึ้นนะครับ สามารถไปลุยกับ Barista ทั้งไทยและเทศได้อย่างมั่นใจ และจะนำเมนูที่ซับซ้อนมากขึ้นมานำเสนอในตอนต่อไปครับ

Saturday, April 28, 2012

My First Espresso (เอสเพรสโซ่แก้วแรก)


พอเริ่มพูดถึงกาแฟ ศัพท์เทคนิคยอดฮิตที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ “Espresso” ไอ้เจ้า Espresso ที่แหละที่เคยสร้างความมึนและงงไม่ใช่น้อยให้กับผมเมื่อนานมาแล้ว เรื่องราวตอนนั้นเกิดขึ้นในหน้าหนาวของปี 2011 หลังจากเหตุการณ์ World Trade Center ไม่นาน
World Trade Center Collapse 2001
อากาศที่หนาวมากในตอนนั้นทำให้คนเมืองร้อนอย่างผมที่เพิ่งมีโอกาสสัมผัสความหนาวที่เกือบถึงจุดเยือกแข็ง ต้องหันหน้าเข้าหา กาแฟสิ่งที่คิดว่าจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้ ร้านที่เลือกจะโผล่เข้าไปก็ไม่พ้นร้านที่เราๆรู้จักกันดีนั่นแหละครับ คิดอยู่ว่าถ้าโผล่ไปที่ร้านอื่นๆคงจะงงน่าดู เมนูไม้ตายอย่าง Coffee Frap ไม่สามารถช่วยชีวิตได้อีกต่อไป ผมจำความความรู้สึกกดดันตอนที่ไปยืนรอสั่งกาแฟได้เป็นอย่างดี ยืนงงๆ ดูเมนูนานๆคิวยาวๆ คราวนี้ศึกษาเมนูกันก่อนจะตรงไปสั่ง ความโง่บวกกับความงก สิ่งที่กระแทกตาผมที่ชัดมาก คือ Espresso เพราะเป็นสิ่งที่ถูกที่สุด ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นน่าจะประมาณ 2 เหรียญกว่าๆ ในขณะที่เมนูอื่นนั้นมีราคามากกว่า 3 เหรียญทั้งหมด เอาล่ะในเมื่อตัดสินใจได้ก็ตรงดิ่งไปสั่งทันที 1 Espresso, Please … ด้วยความหวังว่าจะช่วยคลายความหนาวได้ สิ่งที่ได้กลับมากลับเป็นแก้วกาแฟที่เบามากๆ
Starbucks Espresso
งงกันไปข้างนึง แบบนี้มันจะช่วยให้หายหนาวได้มั้ยวะเนี่ย ความงงที่มากกว่านั้น คือ ไอ้แก้วที่ถืออยู่ในมือเนี่ย เค้ากินกันยังไง เอาวะ เดินตามชาวบ้านเค้าไปละกัน เดี๋ยวลอกๆเค้าคงจะพอไหว ร้ายกว่าเดิมครับ ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ มีกระติกหลายๆอันวางอยู่ Hot Water … Whole Milk … Half & Half … Skim
Starbucks Milk
ทำไงดีวะกู บ้านเรามีแค่น้ำตาลกับน้ำเชื่อมเองนะ เอาวะกินมั้นทั้งแบบนี้แหละ ขอบอกว่าขมโคตรๆ ทุกๆคนคงนึกภาพออก แล้วแก้วแค่นี้มันจะหายหนาวมั้ย ผมไม่รู้และก็ไม่อยากรู้ว่าจริงๆแล้วว่า Espresso มันคืออะไร และไม่เคยสนใจเลยจน 10 ปีผ่านไป ถึงรู้ว่าเอสเพรสโซ่คืออะไร
Brewing Espresso


Espresso ไม่ใช่ชื่อของเมล็ดกาแฟ หรือประเภทของผงกาแฟ แต่เป็นเครื่องดื่มที่ได้จากกระบวนการชงประเภทหนึ่ง ในทางเทคนิค เอสเพรสโซ่ คือเครื่องดื่มที่ชงจากเครื่องชงกาแฟที่ทำงานภายใต้ความดัน และน้ำร้อนที่เหมาะสม คือความดันระหว่าง 0.9-1.2 บาร์ ด้วยน้ำร้อนที่ 88-95 องศา สกัดผ่านผงกาแฟ ประมาณ 6.5-7 กรัมต่อเอสเพรสโซ่หนึ่งช้อต ด้วยแรงดันปั้มน้ำทำงานที่ 9 บาร์ โดยระยะเวลาของการสกัดอยู่ที่ 25-30วินาที ได้เอสเพรสโซ่ 30 มิลลิลิตร หรือ 1 ออนซ์ ประกอบด้วยกลิ่นหอมอโรมา ครีม่า สีน้ำตาลทองมีความหนาประมาณ 3 มิลลิลิตร เหนียวหนืด ลอยอยู่ด้านบน ที่เกิดจากน้ำมันและน้ำตาลที่อยู่ในเมล็ดกาแฟ และส่วนที่สุดท้ายคือบอดี้กาแฟ หรือที่เรียกว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับลิ้น ในปากของเราเมื่อดื่มเอสเพรสโซ่เข้าไปแล้ว

Wednesday, April 18, 2012

Kaffa Amore Intro (จุดเริ่มต้นของ Kaffa Amore)



Traditional Thai Coffee Brewing
ก่อนที่จะเริ่มเวิ่นเว้อไปกันเยอะในรายละเอียดอันมากมายมหาศาล ขอเกริ่นสักนิดนึงก่อนครับ ถึงที่มาที่ไปก่อนที่ผมจะมีความสนใจในเครื่องดื่มที่เรียกว่า กาแฟหรือ “Coffee” ในภาษาอังกฤษ หรือ “Caffeé”ในภาษาอิตาเลียนนั่นเอง ผมยอมรับเลยว่าโดยส่วนตัวผมนั้นไม่เคยมีความสนใจเรื่องนี้เลยแม้แต่นิดเดียว สำหรับผมกาแฟไม่เคยช่วยให้หายง่วงได้ (หรือแม้แต่เครื่องดื่มชูกำลังก็ตาม) ไม่ว่าจะแรงแค่ไหนสามารถหลับได้หลังจากดื่มเสร็จในทันที กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ผมรู้สึกว่าไม่อร่อย (ถ้าไม่ใส่น้ำตาล หรือไม่ก็ชงแบบบ้านเรา โดยการเทน้ำร้อนผ่านถุงเท้าแล้วก็ใส่นมข้นและน้ำแข็ง) ผมมองกาแฟเป็นขนม ไม่เคยดื่มกาแฟร้อน ถ้าจะเลือกดื่มจริงๆก็คงต้องเป็นแบบเย็นหรือแบบปั่นแล้วอัด Whipped Cream เยอะ ที่เวลาเราไปที่ร้านกาแฟแล้วสั่งว่า Coffee Frappuccino with Whipped
Starbucks Frappuccino
ดู Professional ขึ้นมาหน่อยมั้ยครับ ชื่อนี้เป็นชื่อที่ขึ้นใจผมมากแล้วก็ไม่เคยมีความสามารถสั่งอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่านี้ได้ แถมยังเคยนึกในใจว่าจะกินกาแฟสักแก้วทำไมมันยากจังวะ สาเหตุหลักที่ต้องจำ Menu นี้ให้ขึ้นใจก็คือ การเข้ามาของร้านกาแฟชื่อดังร้านในช่วงเริ่มแรก ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากในสังคมไทย ก่อนที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนบางกลุ่ม เวลาที่เราที่ร้านไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ แล้วทำตัวเงอะงะอยู่ตรง Counter หรือ Cashier มันเป็นสถานการณ์ที่กดดันมาก ซึ่งหลายๆคนคงรู้สึกเหมือนผม ดังนั้นจึงต้องเลือกสิ่งที่เป็น Menu ไม้ตายไว้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจริงๆแล้วการที่ได้รู้จัก Menu นี้ก็มาจากการแอบดกกาแฟของเพื่อนคนหนึ่ง แล้วรู้สึกหวานๆมันๆเหมือนขนมดี เลยถามมันว่าไอ้นี่มันเรียกว่าอะไรวะ นี่ยังไม่รวมขนากของขนาดแก้วนะครับที่มีตั้งแต่ Short, Tall, Grande และ Venti จะบ้าตายกินกาแฟแก้วละเป็นร้อยทำไมมันยากแบบนี้เนี่ย ขอเก็ยเรื่องรามความเห่ยไว้พูดตอนพูดถึง Espresso ละกัน เดี๋ยวจะเบื่อไปกันใหญ่
Starbucks Cup Size
หลังจากนั้นผมก็ใช้วิธีนี้เป็นแบบแผนในการดื่มกาแฟมาเป็นเวลานานจนถึงปี 2011 นับดูดีๆก็กว่าทศวรรษครับ จนได้มีโอกาสได้ดู Trailer หนังเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า The Green Hornet ที่นำแสดงโดย Super Star Asia คนดังที่วัยรุ่นกรี้ดกันแทบบ้า ใน Trailer ของหนังเรื่องนี้นั้นมีกาชงกาแฟที่มีการวาดลายใบไม้ลงบนผิวด้านบนของกาแฟ บอกตรงๆครับว่าอึ้งมาก ผมควายมากที่ไม่เคยรู้เลยว่ามีศิลปแบบนี้ในโลกของเครื่องดื่มชนิดนี้ โลกแคบโคตรๆ และ Latte Art อันนั้นแหละครับที่เปลี่ยนมุมมองของผมและสร้างโลกใหม่ให้กับผมเกี่ยวกับเครื่องดื่มชนิดนี้
Latte Art Scene in The Green Hornet Trailer
ต้องขอขอบคุณ Jay Chou และ Michel Gondry ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่มี Scene นั้นในวันนั้น ผมก็ยังคงมีโลกที่อยู่ในกะลาต่อไป และไม่รู้ว่าวันไหนจะมีใครเปิดกะลาให้ผมได้โผล่ออกมาสักที แล้วมาติดตามดูกันนะครับว่ากบอย่างผมจะสามารถมาแชร์อะไรให้ทุกท่านได้รู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มยอดฮิตสุดฮิบของชาวอิตาเลียนกันได้บ้างครับ แล้วเจอกันในตอนต่อไปครับ